วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“ต้นไม้ใหญ่” และ “ลานคอนกรีต” ความต่างของอุณหภูมิที่ “จับต้อง” ได้



เรื่อง : ต้อยติ่ง

ภาพ : ฝ่ายกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา มูลนิธิโลกสีเขียว
      หากพื้นที่ตรงหน้า ฝั่งหนึ่งมีต้นไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา และอีกฝั่งเป็นลานคอนกรีตโล่งกว้าง คุณจะเลือกไปหลบร้อนที่ฝั่งไหน ?
      ถามเช่นนี้ เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยคงตอบไม่ต่างกัน เพราะคงไม่มีใครคิดว่าบริเวณ “ลานคอนกรีต” จะมีอุณหภูมิที่น่าชื่นใจกว่าใต้เงา “ต้นไม้ใหญ่” อย่างแน่นอน
เมื่อ 5 มิถุนายน 2554 หรือ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ที่ผ่านมา ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) ใน “งานประกาศผล 100 สุดยอดต้นไม้มหานคร” ฝ่ายกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา มูลนิธิโลกสีเขียว ได้ลงมือเปลี่ยน “ความรู้สึก” ที่ว่าใต้ “ต้นไม้ใหญ่” เย็นกว่า “ลานคอนกรีต” ให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ ผ่านการวัด “อุณหภูมิ” ด้วยเทอร์โมมิเตอร์
สุธาทิพย์ เกตุแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เล่าว่า เมื่อทางกลุ่มบิ๊กทรี (BIG TREES) ชวนเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโลกสีเขียวให้มาเป็นส่วนหนึ่งในงานดังกล่าว ฝ่ายกิจกรรมฯ จึงตั้งใจออกแบบการทดลองสนุกๆ เพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมกันเป็น “นักสืบสิ่งแวดล้อม” ผ่านการวัดอุณหภูมิในพื้นที่ที่ต่างกันด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ
ทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมฯ เตรียมการทดลองโดยนำเชือกมาผูกไว้กับเทอร์โมมิเตอร์ เพื่อไม่ให้ค่าที่ได้เป็นการวัดอุณหภูมิที่ผ่านวัสดุอื่นมาอีกต่อ และประยุกต์เอาขาตั้งกล้องมาเป็นฐาน โดยนำเชือกเส้นนั้นมาผูกเข้ากับขาตั้งกล้อง และปล่อยให้ห้อยลงมา
พวกเขาเริ่มต้นวัดอุณหภูมิใต้ชายคาในเวลาราว 10 โมงเช้าได้ออกมาที่ 30 องศาเซลเซียส และนำอุปกรณ์ทั้งสองชุดไปตั้งไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ และกลางลานคอนกรีตของสวนโมกข์กรุงเทพฯ โดยเริ่มวัดอุณหภูมิของทั้งสองพื้นที่เปรียบเทียบกันเป็นครั้งแรกในเวลา 10.20 น. และทำต่อเนื่องทุกๆ 1 ชั่วโมงจนถึง 16.20 น. รวมทั้งหมด 7 ครั้ง
แม้สภาพอากาศในวันนั้นจะมีฝนตกมาเป็นระยะ ทำให้ผลการทดลองของทั้งสองพื้นที่มีอุณหภูมิต่างกันไม่มากนัก แต่การวัดผลในช่วงเวลาบ่ายโมง-บ่ายสองโมง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน ก็ยังมีอุณหภูมิต่างกันอยู่ถึง 4.4 องศาเซลเซียส (เวลา 14.20 น. วัดอุณหภูมิที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ 30.6 องศาเซลเซียส และลานคอนกรีตได้ 35 องศาเซลเซียส ต่างกันอยู่ 4.4 องศาเซลเซียส)
            “โดยทั่วไปอุณหภูมิจะค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ และสูงสุดราวบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมง ถ้าอากาศไม่ได้แปรปรวนแบบวันนี้ จริงๆ แล้วช่วงเวลานั้นอุณหภูมิอาจจะต่างกันถึง 10 องศาเซลเซียสเลย ที่สำคัญ เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองจะอยู่ใกล้น้ำ ใต้ลานคอนกรีตก็เป็นน้ำ ก็มีส่วนทำให้อุณหภูมิเย็นลง
           “ถ้ามาวัดวันที่แดดจัด แล้วมีตัวเลขบอกว่าอุณหภูมิห่างกัน 10 องศาเซลเซียส มันก็น่าตกใจนะ จากที่คนรู้สึกว่าร้อนอยู่แล้ว ยิ่งพอมีตัวเลข 10 องศาเซลเซียสมาอีก มันก็จะ ‘เฮ้ย 10 องศาเลยเหรอ’” สุธาทิพย์กล่าว
           นอกจาก “สถิติ” ที่สามารถมายืนยัน “ความรู้สึก” ว่าทั้งสองพื้นที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันจริงแล้ว ความตั้งใจอีกอย่างของฝ่ายกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาก็คือ พวกเขาต้องการทำให้คนทั่วไปได้รู้ว่าการเก็บข้อมูลทำงานวิจัยทางสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องยาก และทุกคนสามารถลงมือทำได้ เพียงแค่ใช้ความละเอียดในการเก็บข้อมูลเป็นพื้นฐาน  อีกทั้งเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ครู-อาจารย์สามารถนำไปใช้เพื่อจัดกิจกรรมให้กับนักเรียน โดยสอดแทรกประโยชน์ที่ตรงไปตรงมาของต้นไม้ใหญ่เข้าไปได้อีกด้วย
             “วิธีการวัดง่ายๆ คนก็อาจจะมองข้าม แต่พอได้มาทำ คนก็จะเห็นความแตกต่างได้ ‘ชัดเจน’ ขึ้น” สุธาทิพย์ กล่าวขึ้น พร้อมกับแสดงความเห็นต่อประโยชน์ของต้นไม้ใหญ่อีกว่า
              “นอกจากเรื่องการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์แล้ว ข้อมูลในวันนี้ก็บอกชัดเจนว่าต้นไม้ใหญ่ยังช่วยเรื่องลดอุณหภูมิด้วย เราไม่ได้จะปฏิเสธการตัดถนน แต่ทุกวันนี้ถนนที่มีอยู่ก็เกินความจำเป็นแล้ว  การเก็บ ‘ต้นไม้ใหญ่’ ไว้มันอาจหมายถึงวิธีคิดของคนว่าจะเลือกเอาอะไรนำ ถ้าเห็นความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ คนก็จะค่อยๆ หาวิธีในการ ‘อยู่ร่วมกัน’ กับการพัฒนาอย่างไร เพราะในทางปฏิบัติมันสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้ารู้จักดูแลอย่างถูกวิธี”

แหล่งที่มา: http://www.greenworld.or.th/greenworld/population/1316

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น