วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อนุรักษ์ชายฝั่งทะเล เมื่อทะเลต้องการการเยียวยา





ที่มา http://www.tlcthai.com/

     พื้นที่ชายฝั่งทะเลนับเป็นทรัพยากรทาธรรมชาติทีให้มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวคุณค่าอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นป่าชายเลน หญ้าทะเล แนวปะการัง รวมทั้งเสพสุขในการท่องเที่ยว แต่ความต้องการที่ไม่รู้จบของมนุษย์ จึงทำให้เกิดรุกรานและทำลายชายฝั่งทะเล  ทั้งพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรม สร้างท่าเทียบเรือ โรงแรม รีสอร์ส  แปรสภาพป่าชายเลนมาเป็นนากุ้งหรือนาเกลือ  รวมทั้งคลื่นซัดถลาเข้าหาชายฝั่งตามธรรมชาติของทะเลที่ไม่เคยหลับ เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติพื้นที่ชายฝั่งทะเล " ชายฝั่งทะเลจึงต้องการการเยียวยา"
    ชายฝั่งทะเล (COAST) คือ พื้นที่ตั้งแต่แนวชายทะเลขึ้นไปบนบก จนถึงบริเวณที่มีลักษณะภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ชายฝั่งทะเลในแต่ละบริเวณ จึงมีความกว้างไม่เท่ากัน และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของชายทะเลแต่ละที่ก็ขึ้นอยู่กับคลื่น ลม และกระแสน้ำ ที่ก่อให้เกิดการกัดเซาะ และการทับถมที่แตกต่างกันออกไป
    ชายฝั่งทะเลนั้นประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้



    (1) หาดส่วนหลัง (Back Shore) เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากคลื่น เพราะคลื่นจะสามารถซัดขึ้นไปถึงได้
    (2) หาดส่วนหน้า (Fore Shore) เป็นบริเวณที่คลื่นไถลขึ้นไปถึง จะเป็นบริเวณที่อยู่ใต้น้ำเกือบตลอดเวลา
    (3) ส่วนที่เป็นชายฝั่ง (surf zone) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่นับจากคลื่นเริ่มแตก (breaker) ยามที่คลื่นซัดเข้าบริเวณชายฝั่งทะเลก็จะมีการแตกตัวจนกลายเป็นกระแส น้ำ และไหลเข้าไปในบริเวณชายฝั่ง ทอดตัวตามแนวชายฝั่งซึ่งวางตัวขนานกับชายฝั่ง

สำหรับประเทศไทย ความยาวของชายฝั่งทะเลรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 2,614 กิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลอยู่ 2 ฝั่ง คือ

    (1) ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก และฝั่งทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย มีความยาว 1,660 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด
    (2) ฝั่งทะเลอันดามัน นับตั้งแต่ปากน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ไปจนถึงจังหวัดสตูลตรงเขตแดนของประเทศมาเลเซีย รวมความยาวชายฝั่งมีความยาว 954 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด
    ปัญหา"การกัดเซาะชายฝั่ง" เกิดขึ้นแต่ละแห่ง ในอัตราความรุนแรงแตกต่างกัน เช่น บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ซึ่งถือว่ามีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากที่สุดของประเทศ ส่วนชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน พบว่าเกิดขึ้นน้อยกว่าชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย
    ผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรและระบบนิเวศชายฝั่ง   ดังนี้
    1. การกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการพัดพาทรายและตะกอนอื่นๆ ออกสู่ทะเลจากคลื่นที่เข้ากระทบชายฝั่งทะเล ส่งผลให้ต่อระบบนิเวศของชายฝั่ง เช่น ทรัพยากรป่าชายเลนป่าชายหาด หญ้าทะเล แนวปะการัง เกิดความเสื่อมโทรม เปลี่ยนสภาพ เสียสมดุล
    2. ทรายและเปลือกหอยที่คลื่นซัดมาสะสมอยู่ส่วนบนของป่าชายเลน มีส่วนทำให้หาดเลนเปลี่ยนสภาพ อาจทำให้ต้นไม้ในป่าชายเลนล้มตายได้ 
    3. สูญเสียที่ดินจากการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน หรืออาจสูญเสียความสวยงามของชายฝั่งทะเล ซึ่งอาจเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
    4. เกิดการตกตะกอนทับถม ทำให้เกิดการตื้นเขินหรือมีพื้นที่งอกออกมา เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ







                                          วัดขุนสมุทราวาส
                                          ที่มา  http://www.oknation.net/

สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง ประกอบด้วย
   
         1. สาเหตุตามธรรมชาติ เช่น ลมมรสุมและพายุ ไต้ฝุ่น สึนามิ อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของมวลทรายที่ถูกพัดพาออกไปจากชายฝั่ง และมวลทรายที่ถูกพัดพาเข้ามาในชายฝั่ง เพราะพายุไม่มีช่วงเวลาที่เกิดขึ้นแน่นอน จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ปรากฏการณ์ น้ำขึ้น-น้ำลง มีผลต่อการเคลื่อนตัวของตะกอนดินเลน และมวลทรายบริเวณชายฝั่งการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกระแสน้ำทั้งฝนตกที่มากกว่าปกติ



         2. สาเหตุจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้เกิดโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมาก เช่น การสร้างเขื่อนหรือฝายกั้นแม่น้ำ ทำให้ตะกอนที่ลงสู่ทะเลมีปริมาณน้อยลงเกิดการพังทลายของชายฝั่งทะเล และการสร้างกำแพงกันคลื่น (seawall) เขื่อนดักตะกอน (groin) เขื่อนหินทิ้ง (revetment) และแนวหินทิ้ง (riprap) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสภาพทางกายภาพของชายฝั่งทะเล อีกทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้สูญเสียป้อมปราการที่คอยป้องกันกระแสลม กระแสคลื่น และที่ดักตะกอนโคลน ทำให้ประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ง่าย นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่ทำให้ธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ก็มีผลต่อการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงเช่นกัน

มาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้เป็น 2 แบบคือ
    
   1. วิธีการทางธรรมชาติ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาแบบอ่อน (soft solution) เป็นวิธีที่ใช้กับบริเวณชายฝั่งที่มีชุมชนไม่หนาแน่น และมีปัญหาการกัดเซาะไม่รุนแรง เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่เป็นวิธีการที่ต้องอาศัยเวลาพอสมควร เช่น
    * การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลน (Mangrove Afforestation) รวมทั้งป่าชายหาด แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง การปลูกหญ้าทะเล หรือต้นไม้ชนิดที่มีรากยาวนั้นจะให้ช่วยยึดเกาะพื้นทรายให้แน่นขึ้น
    * วิธีการนำตะกอนทรายจากที่อื่นมาถม(Beach Nourishment) เป็นการเสริมชายหาดที่ถูกกัดเซาะเพื่อให้มีสภาพเหมือนเดิม ข้อดีของวิธีนี้คือไม่เป็นอันตรายกับชายหาด แต่ต้องเติมทรายอย่างสม่ำเสมอ
    * การกำหนดระยะย่นของสิ่งก่อสร้างบนชายหาด (development set-back control) ให้กว้างขึ้นเพื่อเป็นแนวกันชน (buffer zone) ระหว่างเขตชุมชนกับชายหาด ไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างบนชายหาดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการกัดเซาะ

                               
                                ที่มา http://www.oknation.net/

        2. วิธีการทางวิศวกรรม เป็นวิธีแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จ (hard solution) โดยการแก้ไขปัญหาจะใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันชายฝั่งทะเล คอยดักตะกอนชายฝั่ง สลายพลังงานของคลื่น ช่วยยึดแนวชายฝั่งทะเล และพยายามรักษาสภาพชายหาดให้เกิดความสมดุล ด้วยวิธีต่างๆ เช่น
    * เขื่อนกันคลื่น (breakwater) โดยทิ้งหินหรือแท่งคอนกรีตขนาดต่างๆ กันไว้ในทะเลโดยใช้ก้อนหินขนาดตามที่ออกแบบ เพื่อยับยั้งความเร็วของคลื่นที่จะเคลื่อนที่ เข้าปะทะฝั่ง ส่วนใหญ่เป็นโครงการภาครัฐ
    * กำแพงริมหาดกันคลื่น ขนานกับฝั่ง (sea wall) เป็นโครงสร้าง ที่ใช้ ป้องกันพื้นที่ด้านในชายฝั่ง ก่อสร้างได้ทั้งแบบที่เป็นหินทิ้ง หรือคอนกรีต
    * เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) เป็นการกันทรายปากแม่น้ำสำหรับท่าเรือ (Jetty) ทำเพื่อเพื่อป้องกันไม่ให้ร่องน้ำเข้าท่าเรือ ทำได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่ทำท่าเรือหน้ารีสอร์ท
    * แนวรอดักทราย (groin) ไม่ได้มีไว้กันคลื่น แต่สร้างตั้งฉากยื่นลงไปในทะเล เพื่อดักทรายที่ไหลมาตามกระแสน้ำ เพื่อให้ตะกอนสะสมตัวอยู่ระหว่างโครงสร้างรอแต่ละแนว ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งแบบ ตัวไอ ตัววาย และตัวที

          
         เขื่อนกั้นคลื่น
         ที่มา  http://pe.eng.ku.ac.th/

         
          กำแพงริมหาด
          ที่มา  http://www.bbc.co.uk/

        
         เขื่อนกันทรายและคลื่น
         ที่มา  http://rogerdhansen.files.wordpress.com/

          สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้น จะต้องคำนึงถึงสาเหตุของการกัดเซาะและสภาพปัญหาแตกต่างกัน ดังนั้นข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพชายฝั่งที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ จึงมีความจำเป็นต่อข้อกำหนดมาตรการในระยะสั้นและระยะยาวในป้องกันแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นแต่ละแห่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการแก้ปัญหาที่ทำนั้น บางครั้งเมื่อเวลาผ่านไปจึงได้รู้ว่าเป็นทางแก้ที่ไม่ถูกต้อง เสียหายทั้งสิ่งเเวดล้อมและงบประมาณมหาศาล กลายเป็นดาบกลับมาทำร้ายธรรมชาติให้หนักหนาเข้าไปอีก


บทความ โดย บัวอื่น
แหล่งข้อมูล วิชาการ.คอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น